“ตะรางปากน้ำ” สู่ เรือนจำกลางสมุทรปราการ

“ตะรางปากน้ำ” สู่ เรือนจำกลางสมุทรปราการ

ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีชาวต่างชาติอพยพเข้ามาประกอบอาชีพยังเมืองปากน้ำมากขึ้น เกิดชาวจีนสูบฝิ่น และตั้งโรงบ่อนเบี้ยทั้งในตลาดและท้ายบ้านตลาด ทำให้เกิดโจรผู้ร้ายฉกชิงวิ่งราว จนทางการสามารถจับกุมพวกหัวขโมยได้เป็นจำนวนมาก การใช้ใต้ถุนเรือนเจ้าเมืองสมุทรปราการไม่เพียงพอกับการกุมขังโจรผู้ร้ายอีกต่อไป ทางราชการจึงก่อสร้าง “ตะราง” ที่ใช้กักขังนักโทษแห่งแรกในจังหวัดสมุทรปราการ ? อยู่ภายในอาณาบริเวณป้อมประโคนชัย (ด้านข้างศาลเจ้าพ่อหลักเมือง)

คุกปากน้ำ
                            เรือนนอน

?เมื่อปี พ.ศ. 2458 มีการแยกอำนาจการตัดสินของศาลออกจากอำนาจเจ้าเมือง ประกอบกับมีชาวบ้านค่อยๆ เข้ามาตั้งบ้านเรือน และสร้างตลาดสดในปากน้ำ จนกลายเป็นชุมชนใหญ่ ทางการจึงย้ายตะรางออกไปอยู่ที่บริเวณริมคลองโพงพาง โดยเปลี่ยนคำว่า ตะราง เป็น เรือนจำสมุทรปราการในปี 2480 ภายใต้สังกัดกรมใหม่ คือ กรมราชทัณฑ์ จนเมื่อ พ.ศ. 2519 กระทรวงมหาดไทยได้ยกฐานะเรือนจำจังหวัดสมุทรปราการ เป็น เรือนจำกลางสมุทรปราการ

?จนถึงปี พ.ศ.2540 เริ่มมีการแพร่ระบาดของยาเสพติด ทำให้จำนวนผู้ต้องขังเพิ่มขึ้นมาก เรือนจำมีความแออัด ทั้งอาคารสถานที่เก่าทรุดโทรม ภายนอกกำแพงก็มีประชาชนตั้งบ้านเรือนเป็นชุมชนอยู่ล้อมรอบ กรมราชทัณฑ์จึงมีนโยบายย้ายเรือนจำไปตั้งในที่แห่งใหม่ โดยเรือนจำใหม่ได้ถูกสร้างขึ้นที่ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ พื้นที่ 147 ไร่ ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จและได้ขนย้ายผู้ต้องขังเข้าควบคุม ณ เรือนจำแห่งใหม่ ในวันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม 2544 เป็นอันสิ้นสุดภาพอุจจาดตาของกลุ่มนักโทษที่เคยเดินเรียงรายตามถนนอมรเดช

?โดยพื้นที่ดังกล่าว กลายเป็นอุทยานการเรียนรู้ของจังหวัดสมุทรปราการ มีอาคาร ที่ประชุม และหอชมเมือง ภายใต้ความร่ามมือระหว่างเทศบาลนครสมุทรปราการ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ

 

ข้อมูลจาก :: นายปฏิคม วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการเรือนจำกลางสมุทรปราการ
เรียบเรียง :: คุณพรศิลป์